ชื่อสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ : สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
ผู้อำนวยการสถาน : รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท
เบอร์โทรศัพท์ : 055963015
E-Mail : peerasakc@nu.ac.th
ผู้ประสานงาน (ถ้ามี) : ไม่มี
วัตถุประสงค์ / เป้าหมาย :เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานทางเกษตรกรรม การเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าทางเกษตรกรรมของประเทศโดยเฉพาะผลิตผลทางพืชสวน เช่น ผัก ผลไม้ และดอกไม้จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันได้ ซึ่งปัจจุบันผลิตผลพืชสวนหลายชนิด เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน และกล้วยไม้ เป็นที่นิยมของตลาดต่างประเทศมาก เนื่องจากเป็นแหล่งของสารอาหาร สารป้องกันโรค วิตามินและเส้นใย ตลอดจนสุนทรียภาพทางจิตใจ เช่น ดอกไม้ อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่สามารถส่งออกผลิตผลเหล่านี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น ในปี 2553 ประเทศไทยสามารถส่งออกมังคุดได้เพียง 35 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศ คิดเป็นมูลค่า 1,955.8 ล้านบาท ทุเรียน 29.6 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 3,690.3 ล้านบาท ข้าวโพดฝักอ่อน 15.6 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 1,212.7 ล้านบาท และกล้วยไม้ 44.6 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 1,985.6 ล้านบาท ที่เป็นเช่นนี้เพราะเทคโนโลยีที่เกษตรกร ผู้ส่งออก หรือผู้เกี่ยวข้องใช้ปฏิบัติกับพืชเหล่านี้ภายหลังเก็บเกี่ยวยังไม่ดีเพียงพอ ประกอบกับผลิตผลที่เก็บเกี่ยวจากต้นมาแล้วนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ และใช้อาหารที่สะสมอยู่เพื่อความอยู่รอด เมื่อผลิตผลใช้อาหารที่สะสมอยู่หมดไป ผลิตผลนั้นก็จะตายไปในที่สุด
อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้ผลิตผลอาจเสื่อมสภาพไปได้เนื่องจากการเข้าทำลายของโรคและแมลงด้วย ดังนั้นหากมีการสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวพืชสวนและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร ผู้ส่งออก และผู้เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจก็จะสามารถนำไปปรับใช้ในงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการจัดการผลผลิต หรือการส่งออก งานสอน งานวิจัย ทำให้สามารถลดการสูญเสียทั้งทางด้านผลผลิต ทุน แรงงาน และการตลาด อีกทั้งยังสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น ทำให้สามารถส่งออกผลิตผลไปยังตลาดต่างประเทศที่อยู่ห่างไกลทางเรือได้เป็นปริมาณมากเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ เกษตรกร และภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตร
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าการสร้างความเป็นเลิศในงานวิจัยด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวต้องประกอบไปด้วยปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญ ได้แก่ บุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานวิจัย สถานที่ทำการวิจัย และครุภัณฑ์สำหรับงานวิจัยเชิงลึก เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยด้านการผลิต เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำผลการวิจัยไปถ่ายทอดความรู้ และแนวทางปฏิบัติให้กับเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรม ตลอดจนผู้บริโภค เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความเป็นเลิศในงานวิจัยด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ และสามารถส่งออกได้ในราคาและปริมาณที่สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม
ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ :
ติดตามได้ที่ : http://www.agi.nu.ac.th/postharvest/